วันเสาร์ที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

การพัฒนาชุดฝึกเพื่อพัฒนาความรู้พื้นฐานทางคณิตศาสตร์

บทคัดย่อ
            ชุดฝึกเพื่อพัฒนาความรู้พื้นฐานทางคณิตศาสตร์ได้ออกแบบขึ้นเพื่อพัฒนาความรู้พื้นฐานของนักเรียนในช่วงชั้นที่  3  ประชากรที่ใช้ในการทดลองชุดฝึกครั้งนี้เป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่  1 – 3     ที่กำลังศึกษาในปีการศึกษา  2553 ในโรงเรียนมัธยมศึกษาสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาชัยภูมิ  เขต  2
เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วย แบบทดสอบวัดความรู้พื้นฐานทางคณิตศาสตร์ ชุดฝึกเพื่อพัฒนาความรู้พื้นฐานทางคณิตศาสตร์ และแบบวัดเจตคติต่อคณิตศาสตร์ ชุดฝึกมี  3  เล่ม ระดับชั้นละ 1 เล่ม แต่ละเล่มมี 60 ชุด แต่ละชุดประกอบด้วย โจทย์คิดเลขเร็ว  6  ข้อ โจทย์ปัญหา  2  ข้อ และโจทย์เชาวน์ปัญญาด้านคณิตศาสตร์ 1 – 2 ข้อ ใช้สำหรับฝึกวันละ 1 ชุด   ชุดละ 5 – 10 นาที   ฝึกนาน 60 วัน  
วิเคราะห์ข้อมูลโดยหาค่าเฉลี่ยคะแนนที่ได้จากการทำชุดฝึก 60 ชุด คิดเป็นร้อยละของคะแนนเต็มทดสอบวัดความรู้พื้นฐานก่อนและหลังได้รับการฝึกและเปรียบเทียบความแตกต่างด้วยค่าสถิติที หาค่าเฉลี่ยของคะแนนจากการวัดเจตคติหลังได้รับการฝึก  การทดสอบประสิทธิภาพของชุดฝึกใช้เกณฑ์ 75/75 ซึ่งหมายถึง ค่าเฉลี่ยของคะแนนจากการทำชุดฝึกได้ร้อยละ 75 ขึ้นไป และค่าเฉลี่ยของคะแนนสอบวัดความรู้พื้นฐานหลังได้รับการฝึกได้ร้อยละ 75 ขึ้นไป 
                  ผลการวิจัยพบว่า การทดสอบประสิทธิภาพของชุดฝึก  มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์  75/75    ผลการทดสอบความรู้พื้นฐานพบว่านักเรียนมีความรู้พื้นฐานทางคณิตศาสตร์หลังใช้ชุดฝึกสูงกว่าก่อนใช้ชุดฝึกอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05   ผลการวัดเจตคติต่อคณิตศาสตร์หลังได้รับการฝึก พบว่า นักเรียนมีเจตคติระดับดี  ร้อยละ  60  มีเจตคติค่อนข้างดี  ร้อยละ  25  และมีเจตคติระดับปานกลาง ร้อยละ  15
จากรายงานผลการสอบวัดความรู้ขั้นพื้นฐานของนักเรียนในรายวิชาคณิตศาสตร์ ประจำปี  2552  ระดับประเทศได้คะแนนเฉลี่ย  36.08  (สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ, 2552)  และในปี  2553  ได้คะแนนเฉลี่ย  28.42  (สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ, 2553)  ซึ่งถือว่าระดับคุณภาพของผู้เรียนอยู่ในระดับที่ควรปรับปรุง  ซึ่งผลการศึกษาของสมวงษ์ แปลงประสพโชค สมเดช บุญประจักษ์ และจรรยาภูอุดม (2549: 76-86) ที่ศึกษาสาเหตุที่เด็กไทยอ่อนคณิตศาสตร์ ศึกษาคุณลักษณะของครูคณิตศาสตร์ที่นักเรียนต้องการ และ ศึกษาแนวทางพัฒนานักเรียนให้เก่งคณิตศาสตร์ ในปีพ.ศ. 2546-2547 โดยทำการ สำรวจความคิดเห็นของครู 474 คน และนักเรียน 971 คน จากโรงเรียนนำร่องการใช้หลักสูตรใหม่ จำนวน 169 โรงเรียน เกี่ยวกับสาเหตุที่เด็กไทยอ่อนคณิตศาสตร์และแนวทางแก้ไข จัดสัมมนาครูหัวหน้ากลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ร่วมกับนักการศึกษาคณิตศาสตร์จำนวน 118 คน ในหัวข้อเรื่อง    ทำอย่างไรให้เด็กไทยเก่งคณิตศาสตร์  สัมภาษณ์นักการศึกษาคณิตศาสตร์ 12 ท่านจาก 6 มหาวิทยาลัยในภูมิภาคเกี่ยวกับปัญหาการเรียนการสอนคณิตศาสตร์และแนวทางแก้ไข  และสำรวจความคิดเห็นของนักเรียนที่เข้าสอบแข่งขันชิงแชมป์การคิดและแก้ปัญหาคณิตศาสตร์  ครั้งที่ 6 / 2546 จำนวน 1,811 คน เกี่ยวกับแนวทางที่จะทำให้เด็กเก่งคณิตศาสตร์  โดยสรุปพบว่าสาเหตุนักเรียนไทยอ่อนคณิตศาสตร์มีหลายปัจจัย  เช่น เกี่ยวกับคุณลักษณะของนักเรียน ครูเห็นว่าสาเหตุที่นักเรียนอ่อนคณิตศาสตร์เพราะนักเรียนไม่ชอบคิด ไม่ชอบแก้ปัญหา ขาดการฝึกฝนและทบทวนด้วยตนเองอย่างสม่ำเสมอ เกี่ยวกับคุณลักษณะของครูนักเรียนระดับมัธยมศึกษาเห็นว่า ครูสอนไม่ดี อธิบายไม่รู้เรื่อง ครูดุ เจ้าอารมณ์ ครูไม่เข้มงวดในการทำการบ้าน ครูสอนจริงจังบรรยากาศเครียดขาดอารมณ์ขัน ครูไม่อดทนที่จะอธิบายให้นักเรียนเข้าใจ ครูไม่ใช้สื่อการสอนเพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจ ครูให้นักเรียนอ่านเองสรุปเองแล้วมาสอบ วิธีสอนของครูไม่น่าสนใจ ครูมีความรู้ไม่ดี ขาดความมั่นใจตนเอง ครูไม่จบสาขาวิชาคณิตศาสตร์โดยตรง ครูไม่เปิดใจกว้างให้นักเรียนตอบอย่างอิสระ ครูขาดแรงจูงใจ ครูสอนโดยไม่เน้นการคิดและแก้ปัญหา  ไม่เน้นการนำไปใช้ในชีวิตจริง ครูมีภาระงานที่รับผิดชอบในโรงเรียนมากไป             
 ส่วนปัญหาการเรียนการสอนคณิตศาสตร์ ครูที่เข้าร่วมสัมมนาเห็นว่ามีปัญหาหลายประเด็น เช่น ปัญหาสื่อการสอน ปัญหานักเรียนไม่ชอบการคิดคำนวณ  ปัญหานักเรียนขาดการฝึกฝนและทบทวนด้วยตนเอง ปัญหานักเรียนไม่ชอบคิดและแก้ปัญหา ปัญหานักเรียนไม่สามารถประยุกต์ความรู้ไปใช้กับชีวิตจริง  ปัญหานักเรียนมีพื้นฐานคณิตศาสตร์ไม่ดี ปัญหาความถนัดและสติปัญญาของนักเรียนแตกต่างกัน  และปัญหาเกี่ยวกับการสอนของครู  ซึ่งจากผลการวิจัยพบว่าความรู้พื้นฐานก่อนเรียนวิชาคณิตศาสตร์มีความสัมพันธ์กับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนในรายวิชาคณิตศาสตร์  นักเรียนที่ขาดความรู้ที่สำคัญอันเป็นพื้นฐานในการเรียนเนื้อหาต่อไปแล้วจะทำให้การเรียนในครั้งนั้นไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร  ซึ่งสอดคล้องกับผลการวิจัยเกี่ยวกับความคิดเห็นของครูผู้สอนคณิตศาสตร์ในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายที่พบว่าสาเหตุของปัญหาด้านเนื้อหาเนื่องมาจากนักเรียนมีปัญหาความรู้พื้นฐานทางคณิตศาสตร์ 
สำหรับประเด็นจะทำอย่างไรให้นักเรียนเก่งคณิตศาสตร์ นักเรียนระดับประถมศึกษาที่เข้าสอบแข่งขันชิงแชมป์การคิดและแก้ปัญหาคณิตศาสตร์เห็นว่า  แนวทางที่จะทำให้นักเรียนเก่งคณิตศาสตร์นั้น นักเรียนต้องสนใจเรียน เรียนด้วยความเข้าใจ เห็นคุณค่าของวิชาคณิตศาสตร์ ชอบคำนวณ ชอบคิด ชอบแก้ปัญหา สามารถประยุกต์ความรู้ไปใช้แก้ปัญหา ฝึกฝนและทบทวนด้วยตนเองสม่ำเสมอ มีพื้นฐานความรู้คณิตศาสตร์ดี กล้าซักถาม กล้าแสดงออก
จากปัญหาดังกล่าวข้างต้นผู้วิจัยเห็นว่า ปัจจัยหนึ่งที่สามารถพัฒนาได้และเป็นปัจจัยที่สำคัญเบื้องต้นในการเรียนรู้คณิตศาสตร์ก็คือ ปัจจัยเกี่ยวกับความรู้พื้นฐานของนักเรียน ถ้าหากนักเรียนมีพื้นฐานไม่เพียงพอจะทำให้เรียนรู้เนื้อหาต่อไปได้ลำบาก ในการเตรียมพื้นฐานสำหรับการวิจัยนี้ จะพิจารณาใน 2 ส่วน  ส่วนแรกคือการสร้างสื่อสำหรับการพัฒนาความรู้พื้นฐานซึ่งเป็นสื่อการสอนช่วยครู ที่ครูจะนำมาใช้ฝึกให้นักเรียนจำนวนมากที่อยู่ในระดับปานกลางและในระดับที่ต้องปรับปรุงได้มีความรู้พื้นฐานทางคณิตศาสตร์ที่เพียงพอต่อการเรียนอย่างต่อเนื่อง ไม่เป็นปัญหาต่อการเรียนในระดับชั้นที่สูงขึ้น   ส่วนที่สองคือวิธีการใช้สื่อ  ชุดฝึกที่สร้างขึ้นนี้จะเป็นกิจกรรมที่ให้นักเรียนได้คิดได้แก้ปัญหา ได้ปฏิบัติ และได้ตรวจสอบด้วยตนเอง โดยให้ฝึกทีละน้อย สม่ำเสมอและต่อเนื่อง จากการฝึกนี้จะทำให้เกิดการทักษะและการจำระยะยาว โดยเนื้อหาที่นำมาฝึกฝนเป็น ความรู้พื้นฐานทางคณิตศาสตร์ที่จำเป็นที่เน้นการคิดและแก้ปัญหาสำหรับนักเรียนในช่วงชั้นที่ 3 ประกอบด้วยความสามารถในการคิดคำนวณ ความสามารถในการแก้โจทย์ปัญหา และการแก้ปัญหาที่ใช้เชาวน์ปัญญาด้านคณิตศาสตร์ 
วัตถุประสงค์การวิจัย
1.      สร้างและพัฒนาชุดฝึกพัฒนาความรู้พื้นฐานทางคณิตศาสตร์ของนักเรียนในช่วงชั้นที่  3
2.             เพื่อศึกษาผลของการใช้ชุดฝึกและเจตคติต่อคณิตศาสตร์หลังการใช้ชุดฝึก
วิธีดำเนินการวิจัย
1.             สัมมนาปัญหาการเรียนการสอนคณิตศาสตร์ในช่วงชั้นที่ 3
2.             สร้างชุดฝึก และสร้างข้อสอบวัดความรู้พื้นฐาน และเครื่องมือวัดเจตคติ
3.             ทดลองเครื่องมือและปรับปรุงเครื่องมือ ได้เครื่องมือดังนี้
3.1  ชุดฝึกเพื่อพัฒนาความรู้พื้นฐานทางคณิตศาสตร์มี 3  เล่ม  แต่ละเล่มมี  60  ชุด แต่ละชุดประกอบด้วยโจทย์การคิดเลขเร็ว 6 ข้อ โจทย์ปัญหา 2 ข้อ และโจทย์ปัญหาที่ใช้เชาวน์ปัญญาด้านคณิตศาสตร์ 1-2 ข้อ 
                          3.2 แบบทดสอบวัดความรู้พื้นฐานทางคณิตศาสตร์ วัดความสามารถในการบวก การลบ การคูณ และการหารจำนวน  การแก้โจทย์ปัญหา  และการแก้โจทย์ปัญหาที่ใช้เชาวน์ปัญญาด้านคณิตศาสตร์
                          3.3 แบบวัดเจตคติต่อคณิตศาสตร์ วัดความรู้สึกของนักเรียนโดยมีข้อคำถามเกี่ยวกับประโยชน์ พฤติกรรมการเรียน และความรู้สึกต่อคณิตศาสตร์  
                    4.  หาประสิทธิภาพของชุดฝึก  
                           ขั้นที่ 1 อบรมครูเกี่ยวการใช้ชุดฝึก
                          ขั้นที่ 2 ทดลองใช้ชุดฝึกตามขั้นตอนดังนี้
                                                        1)  ทดสอบความรู้พื้นฐานทางคณิตศาสตร์ก่อนการทดลอง
                                             2)  ทดลองใช้ชุดฝึกวันละ 5-10 นาที ทุกวัน วันละ 1 ชุดรวม 60 ชุด
                             3) ทดสอบหลังการทดลองด้วยข้อสอบชุดเดิม และสอบวัดเจตคติ   
                               ประชากรเป็นนักเรียนที่กำลังศึกษาในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2553 จากโรงเรียนมัธยมศึกษาสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาชัยภูมิ  เขต  2     
                          ขั้นที่ 3 ประชุมวิเคราะห์ผลการทดสอบก่อนทดลองและหลังทดลอง
                                             นำผลมาหาค่าเฉลี่ยของคะแนนในการทำชุดฝึก 60 ชุด และคะแนนสอบวัดความรู้พื้นฐานหลังการทำชุดฝึก โดยใช้เกณฑ์ 75/75 มีความหมายดังนี้ 75 แรกหมายถึง ร้อยละของคะแนนเฉลี่ยของการทำชุดฝึกจำนวน 60 ชุด     75 ตัวหลังหมายถึงร้อยละของค่าเฉลี่ยของ คะแนนสอบวัดความรู้พื้นฐานหลังการทำชุดฝึกครบทุกชุด
                                  ขั้นที่ 4 สัมมนาผลการทดลอง สรุปผลการวิจัยและเขียนรายงาน
    ผลการวิจัย
               1. ผลการทดสอบประสิทธิภาพของชุดฝึก พบว่า ผ่านเกณฑ์ทุกระดับชั้น
2. ผลการทดสอบความรู้พื้นฐานพบว่านักเรียนมีความรู้พื้นฐานทางคณิตศาสตร์หลังใช้ชุดฝึกสูงกว่าก่อนใช้ชุดฝึกอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ.05
3. ผลการวัดเจตคติ พบว่านักเรียนมีเจตคติระดับดี  ร้อยละ  60  มีเจตคติค่อนข้างดี ร้อยละ  25  และมีเจตคติระดับปานกลาง  ร้อยละ  15
อภิปรายผลการวิจัยและข้อเสนอแนะ
1.        เกี่ยวกับประสิทธิภาพของชุดฝึกพบว่า  นักเรียนบางคนมีผลการวัดความรู้พื้นฐานมีค่าเฉลี่ยไม่ถึงร้อยละ 75  จากการสัมภาษณ์ครูผู้ทดลองพบว่านักเรียนอ่อนในด้านโจทย์ปัญหามาก ไม่ชอบอ่านโจทย์ที่เป็นข้อความ มักตอบโดยไม่คิดนอกจากนี้พบว่าโดยปกตินักเรียนไม่ชอบโจทย์ปัญหา ไม่ชอบคิด เวลาทำโจทย์ปัญหาในการเรียนปกติจะรอลอกเฉลยจากครูซึ่งสอดคล้องกับทฤษฎีพหุปัญญาของการ์ดเนอร์ที่เห็นว่าการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งต้องใช้เชาวน์ปัญญาหลายๆ ด้านผสมผสานกัน
2.        เกี่ยวกับพัฒนาการของความรู้พื้นฐานพบว่านักเรียนทุกกลุ่มมีพัฒนาการสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เป็นที่น่าพอใจ ทั้งนี้เนื่องมาจากการฝึกฝนบ่อยๆ อย่างส่ำเสมอสอดคล้องกับกฎการฝึกหัดของธอร์นได ที่มีใจความว่าการกระทำใดที่มีการฝึกหัดหรือกระทำบ่อยๆ จะทำให้การเรียนรู้นั้นคงทนถาวร นอกจากนี้ในการทำชุดฝึกครูจะให้ตรวจเฉลยทันทีเป็นการเสริมแรงด้วยการรู้ผลทันที อีกทั้งชุดฝึกได้ออกแบบไว้ให้มีความยากง่ายและมีปริมาณในระดับพอดี นักเรียนสามารถทำได้ถูกต้องโดยเฉลี่ยร้อยละ 75 ของคะแนนเต็ม  จูงใจให้นักเรียนอยากจะทำครั้งต่อไปเป็นการท้าทาย ซึ่งสอดคล้องกับกฎแห่งการใกล้จะบรรลุเป้าหมายของฮัลล์ที่มีใจความว่าเมื่อผู้เรียนยิ่งใกล้จะบรรลุเป้าหมายเท่าใดจะมีการตอบสนองมากขึ้นเท่านั้น  นอกจากนี้ชุดฝึกได้ออกแบบไว้ให้รู้ผลทันทีซึ่งเป็นการเสริมแรงแบบหนึ่งที่สอดคล้องกับทฤษฎีการวางเงื่อนไขของ        สกินเนอร์เกียวกับการได้รับเสริมแรงจะช่วยให้เกิดแนวโน้มของความถี่ในการกระทำนั้นอีก
3.        ด้านเจตคติพบว่านักเรียนชอบทำ เพราะชุดฝึกได้ปรับปรุงปริมาณข้อให้พอดีกับเวลา    5 – 10 นาที ไม่มากเกินไป รูปเล่มขนาดเล็ก ครูรายงานว่ามีนักเรียนเก่งบางคน  ขอทำมากกว่า 1 ชุด บางคนคิดมาล่วงหน้า จึงสอดคล้องกับทฤษฎีแห่งผลของธอร์นไดที่มีใจความว่าเมื่อบุคคลใดได้รับผลที่พึงพอใจย่อมอยากจะเรียนรู้ต่อไป    
              ข้อเสนอแนะ
1. การนำผลวิจัยไปใช้   สำหรับนักเรียนเก่งที่ทำเสร็จเร็วอาจให้ทำมากกว่า  1  ชุด ฝึก ควรฝึกทุกวัน วันละ 5 10 นาทีอย่างสม่ำเสมอ  และควรมีการเสริมแรงหลากหลายรูปแบบ
2.การวิจัยครั้งต่อไป ควรมีการศึกษาติดตามผลนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ที่มีการใช้ชุดฝึกอุ่นเครื่องอย่างต่อเนื่อง 3  ปีจนถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3  และศึกษาการแก้ปัญหานักเรียนบางคน ที่ไม่ชอบทำโจทย์ปัญหา และที่มีเชาวน์ปัญญาต่ำ

เอกสารอ้างอิง
ทิศนา   แขมมณี. (2545) ศาสตร์การสอน. กรุงเทพ: สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
ไพบูลย์  เทวรักษ์. (2540). จิตวิทยาการเรียนรู้ .กรุงเทพฯ: เอส.ดี.เพรส.
ยุพิน พิพิธกุล .(2536).การเรียนการสอนคณิตศาสตร์. ... : ...
สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ  (Online). Available URL: http://www.niets.or.th/
สมวงษ์ แปลงประสพโชค สมเดช บุญประจักษ์ และ จรรยา  ภูอุดม.(2549).นวตกรรมเพื่อพัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษาคณิตศาสตร์ขั้นพื้นฐานของนักเรียนไทย : การศึกษาสาเหตุนักเรียนไทยอ่อนคณิตศาสตร์และแนวทางแก้ไข.มหาวิทยาลัยราชภัฎพระนคร.
สมวงษ์  แปลงประสพโชคและคณะ  การสร้างชุดฝึกเพื่อพัฒนาความรู้พื้นฐานทางคณิตศาสตร์ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่  1–6
สุนีย์  คล้ายนิลและพิศาล  สร้อยธุหร่ำ. (2546).   คณิตศาสตร์ไทยไม่เข้มแข็งเพราะอะไร.  สยามรัฐ
               17-20 มิถุนายน .

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น